การประกันภัย




แนวความคิดด้านการประกันภัยมีปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นเรื่องเกี่ยวกับโจเซฟและความอดอยากในประเทศอียิปต์ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการประกันภัยอันแรกเท่าที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ เล่ากันว่าคืนวันหนึ่งกษัตริย์ฟาโรห์ทรงพระสุบินว่ามีวัวอ้วนเจ็ดตัวกำลังถูกวัวซูบผอมเจ็ดตัวกัดกิน โจเซฟได้ทำนายฝันว่าประเทศอียิปต์จะมีพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์เป็นเวลาเจ็ดปี และต่อจากนั้นจะเกิดความแห้งแล้งประชาชนจะอดอยากปากแห้งเป็นเวลาเจ็ดปี โจเซฟจึงได้ทูลเสนอต่อกษัตริย์ฟาโรห์ให้สะสมธัญญาหารในปีที่สมบูรณ์ไว้สำหรับเลี้ยงประชาชนในปีที่ข้าวยากหมากแพง วิธีนี้เรียกได้ว่าเป็นหลักประกันภัยพื้นฐาน กล่าวคือ เก็บออมตั้งแต่วันนี้เพื่อไว้ใช้ในอนาคตซึ่งหาความแน่นอนไม่ได้
บันทึกเกี่ยวกับความเป็นมาของการประกันภัยอีกด้าน กล่าวว่าเมื่อประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวบาบิโลน (Babylonian) ที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำยูเฟรทีส ได้ทำการค้าและผลิตสินค้าส่งไปขายตามเมืองต่างๆ โดยอาศัยแรงงานจากทาสหรือบริวารในการขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง ซึ่งบรรดาทาสหรือบริวารเหล่านั้นต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งของเจ้านายอย่างเคร่งครัด และไม่มีอำนาจในการตกลงกับผู้ซื้อนอกเหนือไปจากที่ได้รับคำสั่งจากนายของตนเท่านั้น เมื่อการค้าเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ปัญหาความไม่สะดวกทางการค้าก็ทวีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทาสหรือบริวารไม่มีอำนาจในการเจรจาตกลงกับผู้ซื้อได้ ต้องรอให้เจ้านายเป็นผู้ตัดสินใจเท่านั้น
ในเวลาต่อมาจึงเปลี่ยนไปใช้ “พ่อค้าเร่” (Traveling Salesman) ให้รับหน้าที่ในการขนส่งสินค้าหรือวัตถุดิบไปจำหน่ายตามเมืองต่าง ๆ แทน และเพื่อเป็นหลักประกันว่าพ่อค้าเร่จะไม่คดโกง เจ้าของสินค้าได้ยึดทรัพย์สิน ภรรยา และบุตรของพ่อค้าเร่ไว้เป็นหลักประกัน โดยมีสัญญาว่าเมื่อขายสินค้ากลับมาแล้วพ่อค้าเร่ต้องแบ่งกำไรให้กับเจ้าของสินค้าครึ่งหนึ่ง หากพ่อค้าเร่หนีหรือถูกโจรปล้นเอาสินค้าไปหมด บรรดาทรัพย์สินทั้งหมดจะถูกริบ ส่วนภรรยาและบุตรของพ่อค้าเร่ต้องตกเป็นทาสรับใช้เจ้าของสินค้า
ด้วยเงื่อนไขอันเสียเปรียบนี้ทำให้บรรดาพ่อค้าเร่ไม่พอใจและเกิดการแข็งข้อไม่ยอมรับ จนในที่สุดได้มีการตกลงเงื่อนไขกันใหม่ว่า “ถ้าการสูญเสียสินค้าโดยมิใช่ความผิดของพ่อค้าเร่ หรือพ่อค้าเร่ไม่ได้เพิกเฉยต่อการป้องกันรักษาสินค้าอย่างเต็มที่แล้วให้ถือว่าพ่อค้าเร่ไม่มีความผิด เจ้าของสินค้าจะริบทรัพย์สิน ภรรยา และบุตร ของพ่อค้าเร่ไม่ได้” ข้อตกลงใหม่นี้เป็นที่ยอมรับและใช้ต่อกันมาอย่างแพร่หลาย นับได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการเริ่มต้นของการประกันภัยในสมัยโบราณ
ยุคต่อมาชาวกรีกได้นำแนวคิดของชาวบาบิโลนมาประยุกต์ใช้กับกิจการเดินเรือของตน ซึ่งเรียกแนวความคิดนี้ว่า “สัญญาบอตตอมรี่” (Bottomry) เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าของเรือต้องการจะส่งสินค้าไปขายยังเมืองอื่นที่อยู่ห่างไกลแต่ขาดเงินทุนในการซื้อสินค้าและค่าใช้จ่ายในการเดินเรือ เจ้าของเรือจึงจำเป็นต้องกู้เงินจากนายทุนเงินกู้ เพื่อนำเงินไปเป็นทุนในการค้าขาย เจ้าของเรือที่มีเรือเป็นของตนเองสามารถนำเรือของตนมาเป็นหลักประกันเงินกู้ และมีเงื่อนไขสัญญาว่าถ้าเรือสินค้ากลับมาจากการขายสินค้าแล้วจะชดใช้เงินที่กู้ไปทั้งหมด หากผิดสัญญานายทุน เงินกู้สามารถยึดเรือเพื่อชดใช้หนี้เงินกู้ได้ แต่ถ้าเรือสินค้าลำดังกล่าวประสบภัยระหว่างทางหรือไม่สามารถกลับมายังเมืองท่าต้นทาง นายทุนเงินกู้ก็ไม่สามารถมาเรียกร้องให้เจ้าของเรือชดใช้หนี้สินได้ กรณีที่ผู้กู้ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือมีแต่สินค้าที่ส่งไปขายหรือผู้ที่ต้องการจะซื้อสินค้ากลับมา ผู้กู้สามารถนำสินค้าเหล่านั้นมาเป็นหลักประกันสำหรับเงินกู้ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งสัญญาเงินกู้ที่มีสินค้าเป็นประกันเรียกว่า “สัญญาเรสปอนเดนเทีย” (Respondentia) จึงนับได้ว่าการประกันภัยทางทะเลได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลานี้และยังได้มีการจัดตั้งสถาบันการประกันภัยทางทะเลขึ้นในกรุงเอเธนส์อีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่าในสมัยโบราณนั้น การประกันภัยเกิดจากระบบการค้าขายที่ต้องส่งสินค้าจากเมืองหนึ่งไปขายยังเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งมีความเสี่ยงภัยเป็นอันมาก สินค้าอาจไปไม่ถึงปลายทางด้วยสาเหตุที่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ทั้งจากภัยธรรมชาติหรือจากฝีมือของมนุษย์ด้วยกันเอง เหล่าพ่อค้าจึงจำเป็นต้อง แสวงหา “หลักประกัน” (Guarantee) ไว้ชดเชยความเสียหายเมื่อเกิดภัยขึ้น การหาหลักประกันดังกล่าวแม้จะไม่ใช้หลักเกณฑ์ของการประกันภัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ตามที แต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีแนวความคิดที่จะหาทรัพย์สินมา “ชดเชยความเสียหาย” (Indemnified) ที่เกิดขึ้นกับตน
สำหรับในภูมิภาคเอเชียคาดว่าแนวคิดเรื่องการประกันภัยเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยพ่อค้าชาวจีนที่ขนส่งสินค้าไปขายยังเมืองต่างๆ ผ่านทางแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางที่อันตรายต่อการเดินเรือเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสายน้ำที่เชี่ยวกราก อีกทั้งยังต้องเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เช่น ลมพายุ ฝนตกหนัก และหิมะ เป็นต้น เป็นเหตุให้เรือบรรทุกสินค้ามักอับปางลงอยู่เสมอ ด้วยความกลัวว่าอาจเกิดความเสียหายขึ้นกับสินค้าของตนระหว่างการขนส่ง พ่อค้าชาวจีนจึงได้นำสินค้าที่จะขนส่งไปจำหน่ายเหล่านั้นแบ่งลงเรือหลายๆ ลำ หากเรือลำใดประสบภัยพิบัติจมลง พ่อค้าก็ยังเหลือสินค้าในเรือลำอื่นส่งไปถึงปลายทางได้ วิธีการนี้ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความเสียหายออกไป
วิธีกระจายความเสี่ยงเช่นนี้ ชาวโรมันเมื่อสมัย 200 ปีก่อนคริสต์ศักราช เคยนำหลักการนี้มาใช้ในการลงทุนซื้อเรือเพื่อขนสินค้าไปขายยังเมืองต่างๆ โดยพ่อค้าชาวโรมันจะไม่ลงทุนซื้อเรือมาเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว แต่จะชักชวนผู้อื่นมาซื้อเรือร่วมกันหลายๆ ลำ พ่อค้าแต่ละคนจะเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งของเรือแต่ละลำ หากเรือลำใดเสียหายอับปางไปก็ยังมีเรือลำอื่นเหลืออยู่ไม่สูญเสียเรือไปทั้งหมด ซึ่งหลักการเช่นนี้เป็นการกระจายความเสี่ยงภัยที่คล้ายกับการประกันภัยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
ด้านประวัติการประกันภัยในทวีปยุโรป คาดว่าเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว ในยุคนั้นศูนย์กลางการค้าของยุโรปตั้งอยู่บริเวณประเทศริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านตะวันออก โดยมีทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเส้นทางค้าขายที่สำคัญที่สุดในขณะนั้น พ่อค้าชาวยุโรปได้ส่งสินค้าไปขายยังเมืองต่างๆ โดยใช้การเดินทางทั้งทางบกและทางทะเล แต่การเดินทางติดต่อค้าขายทางทะเลจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าทางบก เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางบกแบบกองคาราวานต้องอาศัยกำลังคนเป็นจำนวนมากในการคุ้มกันทรัพย์สินและลำเลียงสินค้า จึงมีค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานสูงมาก ส่วนการขนส่งสินค้าทางทะเลแม้จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า แต่ก็เต็มไปด้วยภัยพิบัตินานัปการ เช่น ภัยธรรมชาติที่เกิดจากพายุ คลื่นลม ฟ้าผ่า และโจรสลัด เป็นต้น ประกอบกับการขนส่งสินค้าทางทะเลในสมัยนั้นยังใช้เรือใบขนาดเล็กเป็นพาหนะซึ่งมีความเสี่ยงภัยสูง ด้วยเหตุนี้จึงเรียกการขนส่งสินค้าทางทะเลว่าเป็น “การเสี่ยงภัยทางทะเล” (Marine Adventure) จากสาเหตุความเสี่ยงภัยที่สูงดังกล่าว จึงเกิดระบบการกู้ยืมเงินขึ้น โดยใช้สินค้าหรือเรือที่เป็นพาหนะในการขนส่งเป็นหลักประกันเงินกู้ หากเรือขนส่งสินค้าเดินทางกลับมาอย่างปลอดภัย นายทุนที่ให้กู้ยืมเงินก็จะได้เงินกู้คืนพร้อมด้วยส่วนแบ่งที่เป็นผลกำไรจากเงินกู้ แต่ในกรณีที่เรือประสบภัยพิบัติสูญเสียทั้งชีวิตของผู้กู้และสินค้า นายทุนเงินกู้ไม่สามารถเรียกร้องให้ชดใช้หนี้เงินกู้ดังกล่าว
ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 ชาวลอมบาร์ด (The Lombards) ประเทศอิตาลีได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ ได้นำระบบเงินกู้ของชาวกรีกโบราณมาใช้ในการกู้เงิน ได้แก่ การกู้เงินที่ใช้เรือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือ “สัญญาบอตตอมรี่” (Bottomry Bond) และการกู้เงินที่นำสินค้ามาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือ “สัญญาเรสปอนเดนเทีย” (Respon-Dentia Bond) ต่อมากลุ่มพ่อค้าชาวลอมบาร์ดได้คิดระบบการกระจายความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยไม่ให้เงินกู้ในลักษณะการจัดหาเรือและซื้อสินค้า แต่จะจ่ายเงินให้เมื่อเกิดภัยพิบัติทางทะเลแล้วทำให้เกิดความเสียหายกับตัวเรือและสินค้าที่ขนส่งกับเจ้าของเรือแทน วิธีการนี้จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือ “เบี้ยประกันภัย” (Premium) จากเจ้าของเรือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการทำประกันภัยการขนส่งทางทะเล และได้มีสัญญาประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลฉบับแรกของโลกเกิดขึ้น คือ ฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1347 ออกให้ ณ เมืองเจนัว ประเทศอิตาลี
ตามประวัติศาสตร์การประกันภัยขนส่งทางทะเลมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็วในประเทศอังกฤษราวคริสต์ศตวรรษที่ 17 เนื่องจากในสมัยนั้นประเทศอังกฤษมีการค้าขายทางทะเลมากกว่าประเทศอื่นใดในยุโรป ทำให้แนวความคิดเรื่องการกระจายความเสี่ยงอันเนื่องมาจากภัยทางทะเลแพร่หลายเพิ่มมากขึ้น จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่าสัญญาประกันภัยฉบับแรกของอังกฤษ คือ "The Broke Sea Insurance Policy" ปี ค.ศ. 1547 โดยวิธีการทำประกันภัยในสมัยนั้น เจ้าของเรือหรือพ่อค้าที่ต้องการซื้อประกันภัยจะทำบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินต่างๆ ที่จะบรรทุกลงเรือ ใต้รายการเหล่านี้นายธนาคารหรือบุคคลอื่นๆ ที่ประสงค์จะรับประกันภัยจะลงชื่อพร้อมกับระบุจำนวนเงินที่ตนจะรับเสี่ยงแล้วลงลายมือชื่อไว้ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “ผู้ลงนามข้างใต้” (Underwriter) และเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการเข้ารับเสี่ยงภัย ผู้ลงนามข้างใต้แต่ละคนจะได้รับค่าตอบแทนเรียกว่า “เบี้ยประกันภัย” (Premium)
ในช่วงเวลานั้น สัญญาประกันภัยส่วนมากเป็นสัญญาประกันภัยทางทะเล ต่อมาก็ขยายออกไปคุ้มครองถึงการเสียชีวิตของนายเรือและลูกเรือ รวมทั้งพ่อค้าที่คุมสินค้าไปกับเรือ ตลอดจนคุ้มครองจำนวนเงินที่จะเป็นค่าไถ่ตัวเมื่อถูกโจรสลัดจับตัวด้วย


การประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใด แต่ได้ปรากฏตามประวัติศาสตร์พบว่า การประกันภัยเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ได้มีพ่อค้าชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาทำการค้าขายและได้นำเอาระบบการประกันภัยเข้ามาด้วย นั่นคือการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ซึ่งถือว่าเป็นการประกันวินาศภัยประเภทแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่การประกันภัยในสมัยนั้นเป็นการรับประกันภัยกันเองระหว่างชาวต่างชาติ โดยมิได้มีการจดทะเบียนการค้าหรือแจ้งขออนุญาตจากรัฐบาลสยามในสมัยนั้นแต่อย่างใด
ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประมาณปี พ.ศ. 2368 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ได้ทรงสั่งซื้อเครื่องพิมพ์จากประเทศอังกฤษ และทรงเกรงว่าจะเกิดความเสียหายขึ้นระหว่างการขนส่ง จึงทรงมีพระราชดำรัสรับสั่งให้ทำประกันภัยเครื่องพิมพ์ดังกล่าวระหว่างการขนส่งในนามของพระองค์เอง แสดงให้เห็นว่าการประกันภัยได้เริ่มแผ่เข้ามาถึงประเทศไทยแล้ว และอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยได้รู้จักวิธีการประกันภัย หรือการประกันภัยการขนส่งสินค้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3
ส่วนการจะนับว่าการประกันภัยเกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นทางการนั้น เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา กล่าวคือ ชาวฝรั่งเศสได้เข้ามาตั้งห้างค้าขายในประเทศไทยมากขึ้น ห้างฝรั่งเศสเหล่านี้บางห้างเป็นตัวแทนของบริษัทประกันภัยต่างประเทศด้วย ดังที่ปรากฏเช่น
  • ห้องบอเนียว (ปี พ. ศ. 2399) เป็นตัวแทนของ Netherlands India Sea and Fire Insurance Company รับประกันภัยทางทะเลและอัคคีภัย และเป็นตัวแทนของ North China Insurance Company
  • ห้างสก๊อต (ปี พ. ศ. 2399) เป็นตัวแทนของ Ocean Marine Insurance Company
  • ห้างบิกเกนแบ็ก (ปี พ. ศ. 2401) เป็นตัวแทนของ Colonial Sea and Fire Insurance Company
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 คณะทูตจากประเทศอังกฤษได้ขอพระบรมราชานุญาตให้บริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊กจำกัด ซึ่งเป็นกิจการประกันภัยของชาวอังกฤษเข้ามาดำเนินธุรกิจรับประกันชีวิตของประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ในฐานะตัวแทนของบริษัท เอควิตาเบิลประกันภัยแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชานุญาต โดยมีสมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ถือกรมธรรม์เป็นคนแรก หลังจากนั้นธุรกิจประกันชีวิตไม่ประสบกับผลสำเร็จ เนื่องจากกรมธรรม์ต้องส่งมาจากประเทศอังกฤษ ประกอบกับคนไทยยังไม่มีความสนใจเรื่องการประกันชีวิต ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักไปในปลายรัชกาลที่ 5 นั่นเอง
อย่างไรก็ตามในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น กิจการประกันภัยที่ไม่ใช่การประกันชีวิตยังคงดำเนินอยู่ได้ ซึ่งนอกจากบริษัท อี๊สต์เอเชียติ๊ก จำกัดแล้ว ยังมีหลายห้างที่เป็นตัวแทนของบริษัทประกันจากต่างประเทศ เช่น
  • ห้างสยามฟอเรสต์ เป็นตัวแทนของ Commercial Union Assurance Company
  • ห้างเบนเมเยอร์ เป็นตัวแทนของ Nordstern Life Insurance Company of Berlin
  • ห้างหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ เป็นตัวแทนของ China Mutual Life Insurance Company
ในสมัยนั้นยังไม่มีบริษัทหรือห้างที่ตั้งกิจการเพื่อประกอบธุรกิจประกันภัยโดยตรงในเมืองไทย ยกเว้นเพียงบริษัทเรือเมล์จีนสยาม ซึ่งได้รับอำนาจพิเศษให้ดำเนินกิจการรับประกันอัคคีภัยและรับประกันภัยทางทะเลด้วย จะเห็นได้ว่าการประกันภัยได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประกันอัคคีภัย การประกันภัยทางทะเล การประกันชีวิต และการประกันรถยนต์ เช่น ห้างสยามอิมปอร์ต เป็นตัวแทนรับประกันรถยนต์ของ Motor Union Insurance Company เป็นต้น
กฎหมายฉบับแรกที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ที่มีหลักฐานปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนคือ บทบัญญัติเกี่ยวกับการประกันภัย พระราชบัญญัติลักษณะเข้าหุ้นส่วนและบริษัท ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2451) มาตรา 115 บัญญัติไว้ว่า “บริษัทเดินรถไฟ รถราง บริษัทรับประกันต่างๆ บริษัททำการคลังเงินเหล่านี้ ท่านห้ามมิให้ตั้งขึ้นนอกจากได้รับพระบรมราชานุญาต”
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยหรือความผาสุกแห่งสาธารณชนพุทธศักราช 2471 ขึ้น กระทรวงเศรษฐการในสมัยนั้นจึงได้กำหนดเงื่อนไขประกาศกระทรวงโดยเฉพาะสำหรับผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยขึ้น ประกาศใช้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2472 และต่อมาในปี พ.ศ. 2510 รัฐบาลก็ได้ตราพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2510 ออกใช้บังคับ และในปี พ.ศ. 2535 ได้แก้ไขปรับปรุงเป็นพระราชบัญญัติพระกันชีวิต พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 รวมถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อควบคุมและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มีความมั่นคงและเป็นที่เชื่อถือของประชาชนโดยทั่วไป

ข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)