วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

การประกันรถยนต์


ความหมายของการประกันภัยรถยนต์

การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance)
การประกันภัยรถยนต์ จัดเป็นการประกันวินาศภัยประเภทหนึ่ง ให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายอันเกิดจากการใช้รถยนต์
ซึ่งการประกันความเสียหายอันเกิดจากการใช้รถยนต์ ประกอบด้วย
  1. ความเสียหายที่เกิดแก่รถยนต์
  2. ความเสียหายที่รถยนต์ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมทั้งบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์นั้น
สรุปความหมายของการประกันภัยรถยนต์ หมายถึง การที่บุคคลหนึ่งซึ่งเรียกว่า “ผู้เอาประกันภัย” ได้โอนความเสี่ยงภัยเกี่ยวกับรถยนต์ไปให้บุคคลอื่นซึ่งเรียกว่า “ผู้รับประกันภัย” รับเสี่ยงภัยแทน โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเรียกว่า “เบี้ยประกันภัย” ให้กับผู้รับประกันภัย เป็นการตอบแทนที่ผู้รับประกันภัยยอมรับความเสี่ยงภัยไว้แทน  หากรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้เกิดอุบัติเหตุ
ทำให้เกิดความเสียหายแก่ตัวรถยนต์ หรือแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลที่โดยสารอยู่ภายในรถยนต์ ตลอดจนบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถยนต์ที่เอาประกันภัยคันดังกล่าว ผู้เอาประกันภัย
จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เรียกว่า “ค่าสินไหมทดแทน” โดยผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ให้ตามจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้



ประเภทของการประกันภัยรถยนต์
  1. ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (Compulsory Motor Insurance)
    การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือที่เรียกว่า ประกันภัย พ.ร.บ. ซึ่งรถยนต์ทุกคันทุกชนิดต้องทำประกันภัยประเภทนี้  เนื่องจากถูกบังคับโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ประกันภัยประเภทนี้ให้ความคุ้มครองและรับผิดชอบต่อความสูญเสียของชีวิต ร่างกาย  หรืออนามัยของประชาชนผู้ประสบภัยจากรถยนต์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น นาย อ.  ขับรถไปชนคนที่กำลังเดินข้ามถนนได้รับบาดเจ็บ ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนี้จะรับผิดชอบเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของคนเดินถนนที่ได้รับบาดเจ็บเท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ว่า “ซ่อมคน ไม่ซ่อมรถ”
  2.  ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance)
    ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ  เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ (ผู้เอาประกันภัย) และผู้ขาย  (บริษัทประกันภัย) เป็นการเลือกซื้อความคุ้มครองประกันภัยตามความต้องการของผู้ซื้อโดยไม่มีผู้ใดบังคับซึ่งประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนี้จะรับผิดชอบต่อความเสียหายส่วนที่เกินจากความรับผิดชอบของประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับนั่นเอง
ประเภทของการคุ้มครอง
การทำประกันภัยรถยนต์จะคุ้มครองความเสียหาย (แก่ร่างกาย และทรัพย์สิน) ให้กับผู้เอาประกันภัยและผู้อื่น (บุคคลภายนอก) โดยสามารถแบ่งประเภทความคุ้มครองความเสียหายออกเป็น 4 ส่วน
หมายเหตุ
* ความเสียหายต่อร่างกาย หมายถึง การบาดเจ็บ สูญเสียชีวิตและอวัยวะ ทุพพลภาพ ฯลฯ
** ความเสียหายต่อทรัพย์สิน หมายถึง ตัวรถยนต์ ร้านค้า อาคาร สิ่งของที่เสียหายจากอุบัติเหตุรถยนต์ ฯลฯ


ประโยชน์ของการประกันภัยรถยนต์
  1. ด้านบุคคล
    ทำให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถซื้อรถยนต์ใช้ได้ด้วยการผ่อนชำระ โดยผู้ขายรถยนต์จะใช้วิธี ให้ผู้ซื้อรถยนต์ทำประกันภัยรถยนต์คันที่ซื้อกับผู้รับประกันภัย โดยที่ผู้ขายรถยนต์ เป็นผู้รับประโยชน์ วิธีนี้ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขายรถยนต์ว่าหากเกิดอุบัติเหตุ ได้รับความเสียหายก็จะได้รับการชดใช้จากผู้รับประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่ เกิดแก่ทรัพย์สินการบาดเจ็บต่อร่างกายทั้งของผู้ขับขี่รถยนต์และบุคคลภายนอก เป็นการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลากับการโต้แย้งในกรณีที่รถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เป็นฝ่ายผิด ทางผู้รับประกันภัยก็จะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายแทนให้ แต่หากรถยนต์ที่เอาประกันภัย ไว้เป็นฝ่ายถูกทางผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย หรือทำการซ่อมแซมรถยนต์ให้ผู้เอาประกันภัยก่อนจนสามารถนำรถไปใช้ได้โดยไม่ต้องเสียเวลา และผู้รับประกันภัยก็จะดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายแทนผู้เอาประกันภัยให้อีกด้วย ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้เอาประกันภัยในการดำเนินงานหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก
  2. ด้านสังคมและประเทศชาติ
    2.1 เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับสังคมและประเทศชาติ ทำให้สังคมมีหลักประกันความปลอดภัย มีความมั่นใจว่าเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแล้วจะได้รับการชดใช้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ปัจจุบันประชาชนทั่วไปมีความเป็นอยู่พอกินพอใช้ มีเงินออมไม่มากนัก เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนมาก ส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจของชาติเมื่อมีการทำประกันภัยไว้ย่อมทำให้อุ่นใจได้ว่าจะมี ผู้บรรเทาความเดือดร้อนให้
    2.2 เป็นการช่วยให้มีการระดมทุน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศซึ่ง การระดมทุนนั้นจะสำเร็จได้ก็โดยการประหยัดของประชาชนในประเทศ และนำเอาส่วนที่สะสมนั้นมาลงทุน การประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบังคับให้ประชาชน ในชาติประหยัดทางอ้อม คือ นำเงินส่วนหนึ่งมาประกันภัยไว้กับผู้รับประกันภัย ในรูปของเบี้ยประกันภัย เพื่อลดการเสี่ยงภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและผู้รับประกันภัย นำเงินดังกล่าวไปลงทุนหาดอกผล ซึ่งเป็นการช่วยพัฒนาประเทศในการ เพิ่มการลงทุนของประเทศ
    2.3 ช่วยส่งเสริมการลงทุนให้เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือทำให้คนกล้าลงทุนในเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม โดยไม่ต้องกังวลว่าทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจอยู่นั้นจะเสียหายทำให้สิ้นเนื้อประดาตัว เนื่องจากได้ทำประกันภัยไว้แล้ว ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้นและทำให้ธุรกิจ ต้องได้รับความเสียหาย ผู้รับประกันภัยจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ทำให้การค้าและอุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญขึ้นได้
  3. ด้านธุรกิจ
    3.1 เมื่อมีการประกันภัยรถยนต์ส่งผลให้มีผู้ประกอบการเข้ามาดำเนินการในธุรกิจประกันภัย เพิ่มมากขึ้นซึ่งธุรกิจประกันภัยมีความสำคัญไม่น้อยกว่าธุรกิจอื่นๆการเติบโตของธุรกิจ ประกันภัยช่วยทำให้คนมีงานทำมากขึ้นและมีภาวะการครองชีพที่ดีขึ้น
    3.2 ก่อให้เกิดเสถียรภาพและประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ การลงทุนประกอบธุรกิจนั้น เมื่อผู้ลงทุนสามารถลดการเสี่ยงภัย ด้วยการโอนความเสี่ยงภัยไปให้ผู้รับประกันภัย โดยเสียเบี้ยประกันภัยจำนวนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตมีความ แน่นอนมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจมีเสถียรภาพมั่นคงยิ่งขึ้นและทำให้การดำเนินงาน มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น



การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ (Voluntary Motor Insurance)

การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ (ผู้เอาประกันภัย) และผู้ขาย (บริษัทประกันภัย) โดยเป็นการเลือกซื้อความคุ้มครองประกันภัยตามความพึงพอใจของผู้ซื้อ ซึ่งผู้ซื้อทำด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับโดยกฎหมาย
ประเภทความคุ้มครอง
  1. ความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก (Third Party Bodily Injury: TPBI) ให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของบุคคลภายนอก และความรับผิดต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของผู้โดยสารในรถคันเอาประกันภัย โดยมีจํานวนเงินขั้นต่ำที่บริษัทต้องรับประกันภัยจํานวน 100,000 บาทต่อคน และ 10,000 บาทต่อครั้ง ทั้งนี้จํานวนเงินจํากัดความรับผิดนี้ถือเป็นส่วนเกินจากความคุ้มครองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ
  2. ความคุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก (Third Party Property Damage: TPPD) ให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อความเสียหายใดๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอก โดยมีจํานวนเงินขั้นต่ำที่บริษัทต้องรับประกันภัยจํานวน 200,000 บาทต่อครั้ง
  3. ความคุ้มครองความรับผิดต่อความเสียหายของตัวรถยนต์ (Own Damage: OD) ให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างเวลาประกันภัยต่อรถยนต์ รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง และส่วนควบที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ แต่ไม่รวมความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้ โดยมีจํานวนเงินขั้นต่ำที่บริษัทต้องรับประกันภัยจํานวน 50,000 บาท (รถจักรยานยนต์ 5,000 บาท) ทั้งนี้การรับประกันภัยตัวรถยนต์ไม่ควรรับประกันภัยในจํานวนเงินจํากัดความรับผิดต่ำกว่า 80% ของราคารถยนต์ในวันเริ่มการประกันภัย เว้นแต้รถยนต์ที่ไม่มีการเสียภาษีขาเข้า
  4. ความคุ้มครองความรับผิดต่อความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์ (Fire and Theft: F&T) ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง และส่วนควบที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ ที่ถูกไฟไหม้ หรือสูญหายไป
    ไฟไหม้ในที่นี้ หมายถึง ความเสียหายต่อรถยนต์ที่เป็นผลมาจากไฟไหม้ ไม่ว่าจะเป็นการไหม้โดยตัวของมันเองหรือเป็นการไหม้ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากสาเหตุอื่น
    การสูญหายในที่นี้ รวมถึงความเสียหายต่อรถยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจําอยู่กับตัวรถยนต์ ที่เป็นผลมาจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ หรือเป็นผลมาจากการพยายามกระทำดังกล่าวนั้น
  5. ความคุ้มครองเพิ่มเติม แบ่งออกเป็น 3 ความคุ้มครองหลักๆ ดังนี้
    การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident)
    บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ต่อความสูญเสียอันเกิดจากความบาดเจ็บของผู้ขับขี่และ/หรือผู้โดยสาร ซึ่งอยู่ในรถหรือกำลังขับขี่ หรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์ โดยอุบัติเหตุ
    การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล (Medical Expense)
    บริษัทจะชดใช้ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าผ่าตัด และค่าบริการอื่นๆ ตามที่จ่ายจริง ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันเกิดอุบัติเหตุ เพื่อผู้ขับขี่และ/หรือผู้โดยสารในรถคันเอาประกันภัย ซึ่งได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย เนื่องจากอุบัติเหตุในขณะอยู่ในรถ หรือกำลังขึ้น หรือกำลังลงจากรถยนต์ แต่ทั้งนี้ไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัย
    การประกันตัวผู้ขับขี่ (Bail Bond)
    บริษัทจะประกันตัวผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลใดซึ่งขับรถยนต์ โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย ในกรณีรถยนต์ที่เอาประกันภัยไว้เกิดอุบัติเหตุ เป็นเหตุให้บุคคลดังกล่าวถูกควบคุมตัวในคดีอาญา